Skip to content

เช็กลิสต์ ความสว่างทางหนีภัยอาคารได้มาตรฐานหรือไม่

ความสว่างทางหนีภัยอาคารได้มาตรฐานไหม

การก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม โรงแรม หรือว่าห้างสรรพสินค้า นอกจากการออกแบบโครงสร้างของตัวอาคารให้มีความปลอดภัยในการใช้งานแล้ว ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินด้วย เพื่อที่จะได้มีทางหนีไฟที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ซึ่งโดยปกติแล้วตามอาคารต่าง ๆ จะต้องสร้างทางหนีไฟ รวมถึงมีทางหนีภัยให้ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ไปดูกันว่าทางหนีภัยนั้นจะต้องมีความสว่างระดับใด และมีข้อกำหนดใด ๆ อีกบ้างที่เป็นไปตามมาตรฐานวสท. 021004-22

รู้จักมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินจาก วสท.

รู้จักมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินจาก วสท.

ตามกฎหมายแล้วอาคารจะต้องมีการสร้างทางหนีไฟให้ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการอพยพในกรณีที่เกิดภัยฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ พายุเข้า น้ำท่วม หรือเกิดเหตุวินาศกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารนั้นสามารถรอดชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย สำหรับมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินนั้นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานวสท. 021004-22 ซึ่งมีการจัดทำขึ้นโดยสถาบันวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน เพื่อให้เป็นมาตรฐานระดับประเทศ และช่วยให้มีความปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถนำหลักนี้ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ตรวจสอบมาตรฐานความสว่างขั้นต่ำเพื่อการหนีภัยของอาคาร

การตรวจสอบมาตรฐานความสว่างขั้นต่ำเพื่อการหนีภัยของอาคาร

ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือภัยฉุกเฉิน อาคารจะต้องมีระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินที่คอยให้แสงสว่าง มีป้ายทางหนีไฟ และโคมไฟฉุกเฉินจะต้องมีการทำงาน เพื่อให้ผู้ที่อยู่ภายในอาคารเข้าใจว่าควรหนีออกทางใด และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งตามมาตรฐาน วสท. 021004-22 นั้นจะต้องเป็นไปตามหลัก ดังนี้

ทางหนีภัยที่มีความกว้างไม่เกิน 2 เมตร

ในกรณีที่อาคารมีทางหนีไฟที่มีความกว้างไม่เกิน 2 เมตร จะต้องมีระดับความสว่างในแนวระดับที่พื้นที่เส้นกึ่งกลางของทางหนีภัยไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์ และบนแถบกลางทางหนีภัยที่มีความกว้างไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเส้นกึ่งกลาง ต้องมีความส่องสว่างไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความส่องสว่างต่ําสุดที่ออกแบบไว้บนเส้นกึ่งกลางทางหนีภัย

ทางหนีภัยที่มีความกว้างเกิน 2 เมตร

สำหรับอาคารที่มีการออกแบบให้ทางหนีไฟ หรือทางหนีภัยมีความกว้างเดิน 2 เมตร สามารถกำหนดความสว่างได้สองแบบ โดยสามารถเลือกใช้งานแบบใดแบบหนึ่งได้ ดังนี้

  • ให้แบ่งความกว้างทางหนีภัยให้มีความกว้างเท่า ๆ กัน แถบละไม่เกิน 2 เมตร
  • แสงสว่างจะต้องส่องสว่างทั่วทั้งพื้นที่ โดยห้ามมีสิ่งของใด ๆ วางกีดขวาง

พื้นที่โล่งภายในอาคารที่ไม่มีทางหนีภัยชัดเจน

ในกรณีที่พื้นที่อาคารเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ๆ โดยไม่มีทางหนีภัยอย่างชัดเจน หรือไม่มีการติดป้ายทางหนีไฟต่าง ๆ จะต้องออกแบบให้พื้นที่มีความสว่างทั่วบริเวณ และความสว่างจะต้องไม่น้อยกว่า 0.5 ลักซ์ ยกเว้นพื้นที่บริเวณที่ห่างผนังมา 0.5 เมตร ที่สำคัญจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางต่าง ๆ

พื้นที่งานที่มีความเสี่ยงสูง

ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง จะต้องมีการออกแบบให้พื้นที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย โดยจะต้องมีความส่องสว่างไม่น้อยกว่า 10% ของค่าระดับความส่องสว่างในช่วงเวลาปกติ แต่จะต้องให้ความสว่างไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์

พื้นที่เตรียมหนีภัย, จุดรวมพล,​ปฏิบัติการดับเพลิง และห้องควบคุม

ในส่วนของพื้นที่ทางหนีไฟ พื้นที่เตรียมหนีภัย จุดรวมพล ตำแหน่งปฏิบัติการดับเพลิง และห้องควบคุม ในพื้นที่เหล่านี้จะต้องมีความสว่างไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์ เพราะเป็นจุดที่ต้องมีการปฏิบัติงานช่วยเหลือ พื้นที่จึงจำเป็นต้องมีความสว่างสูง เพื่อให้มีการทำงานที่ง่าย มองเห็นได้อย่างชัดเจน

พื้นที่เก็บอุปกรณ์ดับเพลิง, อุปกรณ์แจ้งเหตุ และพื้นที่เก็บอุปกรณ์ปฐมพยาบาล

อีกบริเวณที่ต้องให้ความสำคัญคือพื้นที่เก็บอุปกรณ์ดับเพลิง บริเวณอุปกรณ์แจ้งเหตุ และพื้นที่เก็บอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ความสว่างจะต้องไม่น้อยกว่า 5 ลักซ์ และจะต้องมีการติดตั้งในระยะไม่เกิน 2 เมตรจากจุดกึ่งกลางของตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก มองเห็นอุปกรณ์ได้ชัดเจน เพื่อช่วยให้ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว

สรุปบทความ

การออกแบบอาคารนอกจากจะออกแบบให้มีความสวยงาม ใช้งานได้อย่างสะดวกสบายแล้ว จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย โดยการสร้างทางหนีไฟ รวมถึงทางหนีภัยในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ พายุเข้า หรือเกิดเหตุวินาศภัย ซึ่งจะต้องสร้างให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และจะต้องมีความสว่างทางหนีภัยอาคารได้มาตรฐาน ผู้ที่อยู่ภายในอาคารจะได้มองเห็นได้อย่างชัดเจน และใช้งานได้อย่างปลอดภัย