Skip to content

รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับมาตรฐานไฟฉุกเฉิน พร้อมเช็กลิสต์ 13 จุดที่ต้องติดตั้งโคมไฟฉุกเฉิน

รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับมาตรฐานไฟฉุกเฉิน

เวลาที่เราเข้าไปในอาคาร หรือสถานที่ต่าง ๆ หนึ่งในสิ่งที่ต้องสังเกตให้ดีคือ “โคมไฟฉุกเฉิน” และ “ป้ายไฟทางออกฉุกเฉิน” เพื่อที่เวลาเกิดเหตุไม่คาดฝัน จะได้อพยพออกมาตามการนำทางของโคมไฟฉุกเฉิน มายังทางออกได้อย่างปลอดภัย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาคารที่เข้าไปใช้งานมีการติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินตามมาตรฐานไฟฉุกเฉิน บทความนี้มีคำตอบ

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานไฟฉุกเฉิน

การติดตั้งระบบโคมไฟฉุกเฉินและป้ายไฟทางออกฉุกเฉินให้ได้มาตรฐานตามที่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กำหนด เป็นสิ่งที่เจ้าของสถานที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายแล้ว มาตรฐานไฟฉุกเฉินที่ออกแบบมา ยังเป็นกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างอัคคีภัย หรือไฟฟ้าขัดข้องด้วย ถ้าหากอาคาร หรือสถานที่นั้น ๆ ไม่ได้ติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินและป้ายไฟทางออกฉุกเฉินที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็แสดงว่าไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคารนั่นเอง

13 จุดที่ต้องติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินตามมาตรฐานไฟฉุกเฉิน

13 จุดที่ต้องติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินตามมาตรฐานไฟฉุกเฉิน

บริเวณที่ต้องติดตั้งโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ตามมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน พ.ศ. 2565 (วสท. 021004-22) มี 13 บริเวณดังนี้

  • เส้นทางหนีภัยและบริเวณทางออก
  • บริเวณภายนอกหลังจากออกจากอาคารแล้ว ต้องมีความส่องสว่างอย่างต่ำอยู่ในระดับเดียวกันกับความส่องสว่างก่อนออกจากอาคาร
  • ทางแยก ให้ติดตั้งโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินห่างจากทางแยกไม่เกิน 2 เมตร ในแนวระดับ
  • ทางเลี้ยว ให้ติดตั้งโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินห่างจากทางเลี้ยวไม่เกิน 2 เมตร ในแนวระดับจากจุดเปลี่ยนทิศทาง หรือทางเลี้ยว
  • พื้นเปลี่ยนระดับ ให้ติดตั้งโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินห่างไม่เกิน 2 เมตร ในแนวระดับจากพื้นเปลี่ยนระดับ
  • บันได ในกรณีที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทางหนีภัย ให้ติดตั้งโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินให้แสงส่องสว่างถึงขั้นบันไดทุกขั้นโดยตรง
  • พื้นที่ปฏิบัติงานของพนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่พนักงานกู้ภัยในลิฟต์ดับเพลิง พื้นที่จุดแจ้งเหตุเพลิงไหม้ จุดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง พื้นที่เตรียมการหนีภัย และพื้นที่เก็บอุปกรณ์ปฐมพยาบาล
  • บริเวณพื้นที่งานความเสี่ยงสูง รวมถึงห้องเครื่องไฟฟ้าเครื่องกล ห้องควบคุม ห้องต้นกำลัง ห้องสวิตช์ และบริเวณใกล้กับอุปกรณ์ควบคุมการจ่ายไฟแสงสว่างปกติและไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน
  • ห้องน้ำ ให้ติดตั้งในห้องน้ำทั่วไปที่มีพื้นที่มากกว่า 8 ตารางเมตร และห้องน้ำสำหรับคนพิการ
  • บันไดเลื่อนและทางเลื่อน ในกรณีที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทางหนีภัย
  • พื้นที่เปิดโล่งภายในอาคาร พื้นที่สำนักงาน ร้านค้า ห้องประชุม หรือห้องที่มีคนอาศัยที่มีขนาดมากกว่า 60 ตารางเมตร
  • บริเวณภายนอกประตูดาดฟ้าและบริเวณพื้นที่รอการหนีภัยทางอากาศ
  • บริเวณพื้นที่หรือห้องพักเพื่อรอการหนีภัยภายในอาคาร

การติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง?

นอกจาก 13 จุดที่ต้องติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินแล้ว เพื่อให้เจ้าของสถานที่เห็นภาพการติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินตามมาตรฐานไฟฉุกเฉินมากขึ้น เราได้รวม 3 เรื่องที่เจ้าของอาคารต้องให้ความสำคัญมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!

1. เป้าหมายในการติดตั้งโคมไฟฉุกเฉิน

การติดตั้งโคมไฟฉุกเฉิน จะมีอยู่ 2 เป้าหมายหลัก ๆ ได้แก่ การให้แสงสว่างสำรองเวลาที่แหล่งจ่ายไฟปกติล้มเหลว และการให้แสงสว่างเพื่อการหนีภัย ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องติดตั้งวงจรการให้แสงสำรองแยกกัน โดยการติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินจะต้องเป็นไปตามที่มาตรฐานไฟฉุกเฉินกำหนดเท่านั้น 

การติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินเพื่อการหนีภัยนั้น จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่าง ๆ ดังนี้

  • จะต้องทำให้เห็นทางหนีภัยชัดเจน ผู้หลบหนีจะต้องมองเห็นอันตราย การเปลี่ยนระดับพื้น ทิศทางหนีภัย และนำทางไปยังทางออกสุดท้าย สามารถหนีภัยได้อย่างปลอดภัย
  • จะต้องเห็นอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ อุปกรณ์ผจญเพลิงที่ติดตั้งตามเส้นทางหนีภัย และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลได้อย่างชัดเจน
  • หากทางหนีไฟที่มีความกว้างไม่เกิน 2 เมตร ระดับความส่องสว่างในทุก ๆ จุด ต้องไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์
  • หากทางหนีไฟมีความกว้างเกิน 2 เมตร ให้แบ่งความกว้างทางหนีภัยเป็นแถบกว้างเท่า ๆ กัน แถบละไม่เกิน 2 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่โล่งที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง แล้วติดตั้งการให้แสงสว่างฉุกเฉินให้มีระดับความส่องสว่างไม่น้อยกว่า 0.5 ลักซ์ ต่อ 1 จุด
  • การให้แสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่งานอันตราย จะต้องไม่น้อยกว่า 10% ของความสว่างปกติ และไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์
  • จำนวนโคมไฟฉุกเฉินต้องเหมาะสมกับขนาดอาคารและเส้นทางหนีไฟ โดยทั่วไปแล้ว โคมไฟฉุกเฉินต้องติดตั้งทุก ๆ 20 เมตร บนเส้นทางหนีไฟ แต่หากเส้นทางหนีไฟมีความกว้างมากกว่า 6 เมตร จะต้องติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินเพิ่มทุก ๆ 10 เมตร

2. เลือกโคมไฟฉุกเฉินให้เหมาะกับแต่ละจุด

โคมไฟฟ้าที่ใช้เพื่อส่องสว่างฉุกเฉินจะมีอยู่ 3 แบบหลัก ๆ ดังนี้

  • โคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินชุดเบ็ดเสร็จ : จะเป็นโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินคงแสง หรือไม่คงแสง ที่อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่ในตัวเอง หรืออยู่ใกล้ตัวดวงโคมภายในระยะ 1 เมตรของสายต่อ
  • โคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินไม่คงแสง : จะเป็นโคมไฟฟ้าที่หลอดไฟติดและให้แสงสว่างฉุกเฉินเฉพาะในเวลาที่แหล่งจ่ายไฟฟ้าปกติล้มเหลวเท่านั้น
  • โคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินชนิดต่อพ่วง : จะเป็นโคมไฟฟ้าที่รับไฟจากตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าฉุกเฉินส่วนกลาง ไม่มีแหล่งจ่ายไฟ หรือแบตเตอรี่ไฟฉุกเฉินเป็นของตัวเอง

ไม่ว่าจะเลือกโคมไฟฉุกเฉินแบบใด โคมไฟฉุกเฉินนั้น ๆ จะต้องมีสเปคขั้นต่ำ คือ มีหลอดไฟ LED ที่มีความสว่างเพียงพอ แบตเตอรี่ต้องสามารถให้แสงสว่างได้อย่างน้อย 180 นาที และทำงานอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุไฟดับ

3. เลือกป้ายไฟทางออกฉุกเฉินให้ได้ขนาดมาตรฐาน

ป้ายไฟทางออกฉุกเฉินก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน และจะต้องเลือกขนาดที่ได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานกำหนดด้วย โดยข้อกำหนดขนาดป้ายทางออกฉุกเฉินมาตรฐาน จะแตกต่างกันไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ขนาดป้ายทางหนีไฟตามมาตรฐาน วสท. และ สมอ. :  ต้องมีความสูงมาตรฐาน 10 เซนติเมตร ความกว้างอย่างน้อย 14.4 เซนติเมตร ความสูงของขอบด้านบน 2.5 เซนติเมตร ความกว้างขอบข้าง 4 เซนติเมตร ความกว้างขอบแบ่งกลาง 5 เซนติเมตร และสัญลักษณ์คนในป้ายไฟทางออกฉุกเฉิน 15×18 เซนติเมตร
  • ขนาดป้ายทางหนีไฟตามมาตรฐาน กรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.) : ขนาดรูปและตัวหนังสือ 15 เซนติเมตรขึ้นไป ระยะห่างตัวอักษรไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ความหนาของตัวอักษรต้องไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ลูกศรต้องห่างจากสัญลักษณ์ไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร และขอบด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย และด้านขวา ต้องห่างจากตัวอักษรและสัญลักษณ์ในป้ายไม่น้อยกว่า 25 มิลลิเมตร
  • ขนาดป้ายทางหนีไฟตามกฎกระทรวง : ขนาดของป้ายจะต้องมีขนาด 15 x 18 เซนติเมตรขึ้นไป มีองค์ประกอบภาพ 1 ชิ้น และมีขนาดอยู่ที่ 10 เซนติเมตร

อย่างไรก็ตาม ขนาดป้ายทางหนีไฟดังกล่าว เป็นข้อมูลขนาดป้ายทางออกฉุกเฉินเล็กสุดเท่านั้น หากป้ายมีขนาดใหญ่ จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญก่อนสั่งซื้อ เพื่อความถูกต้องที่สุด

สรุปเรื่องมาตรฐานไฟฉุกเฉิน

สรุปเรื่องมาตรฐานไฟฉุกเฉินเเละป้ายทางออกฉุกเฉิน

จะเห็นได้ว่า การติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินและป้ายทางออกฉุกเฉินไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการกำหนดมาตรฐานไฟฉุกเฉินต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นเจ้าของอาคารสถานที่จะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดให้ดีก่อนที่จะทำการติดตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้อาคาร อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เรานำมาฝากนี้ เป็นเพียงมาตรฐานการติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินเบื้องต้นเท่านั้น อาจมีการแตกต่างกันไปในแต่ละอาคาร สำหรับเจ้าของสถานที่ที่กำลังวางแผนติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินและป้ายไฟทางออกฉุกเฉิน แนะนำให้สอบถามผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง เพื่อการติดตั้งไฟฉุกเฉินให้ตรงตามมาตรฐาน และวางระบบความปลอดภัยในอาคารให้ดีที่สุด